ผม "แดง" นะครับ อ้อ ใช่ครับ นั่นแหละที่มาของ Mr.RedHair นั่นเอง เรามาแชร์โลกการลงทุนให้มันเข้าใจได้ง่ายขึ้นกันนะครับ

การซื้อบ้าน หรือคอนโดสมัยนี้ ต้องบอกเลยว่า ไม่ใช่อะไรง่ายๆเลยจริงๆ
เพราะว่า ราคาบ้านหรือคอนโด สมัยนี้ไม่ใช่ถูกๆเลย ซ้ำขนาดพื้นที่ก็ยังลดลงเรื่อยๆ


แต่เอาจริงๆ การที่เราเริ่มทำงาน เริ่มหาเงินได้นั้น
1 ในความฝันของเราก็น่าจะเป็นเรื่องของการซื้อบ้านสักหลัง
เพื่อไว้เป็นที่พักอาศัย หรืออยากได้ที่อยู่ที่คุณภาพดีขึ้น เพื่อให้ครอบครัวของเราเอง ทั้งครอบครัวที่เกิดขึ้นใหม่จากการแต่งงาน และพ่อแม่ของเราได้อยู่ในบ้านที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งหากเราไม่มีเงินสดเพียงพอ เราก็จำเป็นต้องกู้ และผ่อนส่งกันยาวกันไปจนแก่เลยทีเดียว

หนึ่งในแผนการเงินของ WealthMagik นั้นก็มีเรื่องของการวางแผนเพื่อซื้อบ้าน ด้วยครับ
ซึ่งวันนี้ เราจะไปดูกันว่า เป็นอย่างไร

แต่ก่อนอื่นเลย สำหรับช่วงเวลานี้ ก็มีกฎหมายที่ออกมาเพื่อให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกด้วยนะครับ ซึ่งข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถตามลิงค์ด้านล่างนี้ไปอ่านกันได้เลยครับ
https://www.itax.in.th/pages/โครงการบ้านหลังแรก


แนะนำ ให้อ่านในส่วนของ Saving Plan ก่อนนะครับ เพราะบางส่วนจะไม่อธิบายละเอียดซ้ำ เนื่องจากไม่อยากซ้ำซ้อนกับส่วนที่เขียนไปแล้วครับ
http://misterredhair.blogspot.com/2016/02/WealthMagikSavingPlan.html


MyPlan - Housing Plan ใน WealthMagik
url: http://www.wealthmagik.com/FP/HSInput.aspx?mode=NP

ขออธิบายเบื้องต้นก่อนเลยว่าสำหรับผู้ที่จะเข้ามาใช้งาน ผมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

1. กลุ่มที่กำลังต้องการวางแผนที่จะซื้อบ้านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สิ่งที่จะได้จากการทำแผนนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องของการออมเพื่อดาวน์บ้าน และ Flow ของการจ่ายเงินในขณะที่ต้องผ่อนครับ

2. กลุ่มที่ต้องการดู Flow ของการจ่ายเงิน ว่าในขณะที่ผ่อนเงินจะวิ่งอย่างไร เพื่อประเมินตัวเราเองว่า ไหวหรือเปล่านะครับ จะได้จัดการเงินกันตั้งแต่เนิ่นๆ (ซึ่งกลุ่มนี้ต้องทำการประยุกต์ใช้เล็กน้อย เช่นถ้าจะซื้อปีนี้โดยมีเงินดาวน์พร้อมอยู่แล้ว อาจจะระบุเป็นว่า อีก 1 ปีถึงทำการซื้อ และกรอกอายุน้อยกว่าจริงสัก 1 ปี เพื่อจะได้ดูผลลัพธ์ของตารางสุดท้ายเรื่อง Flow ของการผ่อนนะครับ)

เพราะฉะนั้นตัวอย่างที่ผมจะทำให้ดู จะเป็นกลุ่มที่ 1 นะครับ และขอสมมติตัวละครสำหรับการวางแผนเลยนะครับ

คุณ A มีอายุ 25 ปี ต้องการจะซื้อบ้านในอีก 2 ปี โดยวางงบซื้อบ้านได้ 3,000,000 บาทครับ



ในส่วนที่ 1 เรื่องสถานภาพทั่วไปนะครับ กรอกข้อมูลได้เลยครับ ส่วนเรื่องของอัตราผลตอบแทนจะคงไว้ตามที่ระบบให้มาก่อนก็ได้ครับ หรือถ้ามีผลตอบแทนที่ทำได้จากเงินก้อนนี้อยู่แล้ว ก็ใส่ไว้ได้เลยครับ



ในส่วนที่ 2 ข้อมูลบ้านที่ต้องการซื้อ และข้อมูลที่คาดการณ์
ใส่ข้อมูลเข้าไปเลยครับ และในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ถ้าสำหรับกลุ่มที่จะซื้ออยู่แล้ว หรือวางงบประมาณไว้เท่านี้โดยได้สนใจเรื่องเงินเฟ้อ ก็ใส่ 0% ไว้ได้เลยครับ



ผลลัพธ์ที่ได้ครับ
สำหรับคุณ A นั้นจะพบว่า เงินออมไม่พอสำหรับการดาวน์บ้านในอีก 4 ปีที่วางแผนไว้นะครับ
ก็อาจจะต้องเก็บเงินเพิ่มอีกนิด หรือนำเงินไปสร้างผลตอบแทนที่มากกว่านี้หน่อยครับ

ทีนี้จะสังเกตเห็นว่า วงเงินที่ต้องการกู้นั้นสูงขึ้น ตรงนี้เป็นเพราะว่ามีการใส่เงินเฟ้อไว้ครับ ทำให้มูลค่าบ้านที่วางไว้ที่ 3,000,000 บาท เพิ่มไปปีละ 2.4% เป็นเวลา 4 ปี (ซึ่งมีผลกับการออมเพื่อมาดาวน์ 10% ด้วยครับ จาก 300,000 ทำให้มากกว่านั้น) และหลังจากดาวน์แล้ว ตัวเลขนี้คือตัวเลขที่ต้องกู้ครับ

ได้เห็นผลลัพธ์เบื้องต้นกันแล้ว ก็กด สรุปผล ไปดูหน้าต่อไปกันเลยครับ


ในส่วนนี้ก็จะเป็นคำแนะนำครับ ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้เก็บเงินสำหรับดาวน์ได้พอดี ก็จะไม่ต่างกับการทำ Saving Plan ครับ แต่จะมีข้อสุดท้าย เป็นการยอมลดเป้าหมายตัวเองลง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของเราครับ ซึ่งหากเราเลือกสัก 1 ข้อที่แนะนำ แล้วกดที่เปลี่ยนข้อมูล จะทำให้เราเข้าเป้าของการออมเพื่อดาวน์บ้านพอดีครับ




ในส่วนข้อมูลกราฟนี้ ก็จะเป็นการแสดงการออมเพื่อเก็บเงินดาวน์นะครับ จะเห็นว่าเงินดาวน์ มีการเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อนั่นเองครับ ถ้าเราเลือกแผนที่แนะนำให้ และกดเปลี่ยนข้อมูล ก็จะทำให้เส้นสีส้มชนเส้นสีเหลืองพอดี ซึ่งแปลว่า เรามีเงินดาวน์บ้านได้นั่นเองครับ เย่ๆ


แต่สำหรับผมเองคิดว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับการกู้ซื้อบ้าน คือภาพสุดท้ายครับ เพราะการที่จัดสินใจซื้อบ้านหรือหาเงินมาเพื่อดาวน์บ้าน เป็นแผนระยะสั้น ที่เราเห็นแล้วละครับว่า เราจะทำได้มั๊ย ต้องปรับต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง แต่ภาพสุดท้ายนี้เอง ที่แสดงถึงเงินของเราที่ใช้ในการผ่อนซื้อบ้าน เราจะเห็นว่าจริงๆ เราผ่อนแต่ละงวด เงินส่วนใหญ่ เป็นการจ่ายดอกเบี้ยทั้งนั้น ครับ ซึ่งนี่ก็คือที่เค้าบอกกันว่า ผ่อนบ้าน 1 หลังจ่ายเท่าราคาบ้าน 2-3 หลังเลย 

อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดกันตามหลักเรื่องเงินเฟ้อ ในอีก 20-30 ปีที่เราผ่อนนั้น ราคาบ้านก็อาจจะราคาสูงขึ้น อาจจะมากกว่า 3-4 เท่าของที่เป็นอยู่ก็ได้นะครับ เพราะฉะนั้นแล้วหากเราต้องการจะซื้อจริงๆ ก็อาจจะเป็นการลงทุนที่ดี หรือจะถือเป็นการออมเชิงบังคับก็ได้ ซึ่งจากตารางสุดท้าย จะเป็นการแสดงการผ่อน เป็นรายเดือนครับ 

สุดท้ายนี้อยากบอกว่า พอได้เห็นตารางนี้กันแล้ว ก็อย่าลืมใช้ในการวางแผนด้วยนะครับ ว่ากระทบชีวิตประจำวันเราแค่ไหน เพราะถ้าไม่ประเมินตั้งแต่ต้นๆ ถ้าเกิดวิกฤตขึ้นมา โดนยึดก็คงไม่คุ้มกันครับ

อย่าลืมไป like page : FB.com/MrRedHair กันนะครับ
ไปโพสต์ หรือคอมเม้นคุยกันก็ได้เลยครับ ^_^

ขอให้สำเร็จในทุกแผนที่คุณตั้งไว้ครับ
Mr.RedHair



เริ่มต้นกับแผนแรกสุด กับ "แผนออมเงิน" หรือ Saving Plan นะครับ 
คงต้องบอกว่าเป็นแผนที่เข้าใจง่ายที่สุด และสามารถประยุกต์ใช้ได้ง่ายที่สุดครับ





แผนนี้เหมาะกับใครบ้าง คำตอบก็คือ ทุกคนครับ!! เพราะว่าในความฝัน ในความจำเป็น ในความต้องการของคนเรา มักจะมีค่าใช้จ่ายตามมา เช่น 

หากเราวางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น เราก็ต้องมีงบ ทั้งเรื่องค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าช็อปปิ้ง ค่าเที่ยว คำถามคือ เรามีงบ หรือเงินเพียงพอจะไปได้เลยหรือเปล่าครับ บางคนอาจจะมีนะ แต่ถ้าไม่มี ผมก็แนะนำว่า ลองทำแผนนี้ดูครับ

หรือสำหรับบหนุ่มๆที่เริ่มต้องเตรียมตัวเรื่องการขอแต่งงาน ก็อาจจะใช้ได้นะ 55+ อันนี้ไม่ใช่ประสบการณ์ตรง แต่เคยได้ยินมาครับ ว่าสาวๆบางคนอาจจะมีกำหนดมาเลยว่า ถ้าห้าปีไม่ขอแต่ง ไม่รอนะ .. เพราะงั้น ลองถามเธอดูนะครับ ว่าต้องใช้สินสอดเท่าไหร่ บวกรวมค่าจัดงาน หรือเอาง่ายๆ ทั้งหมดที่ต้องใช้ควรจะเท่าไหร่ดี จากนั้นมาลองทำแผนครับ จะได้รู้ว่า จะรอดมั๊ย ^__^ (เปลี่ยนแผนตอนนี้ ดีกว่าถึงเวลาแล้วเปลี่ยนไม่ทันแล้วนะครับ 55+)

เอาละมาลองใช้กันเลยครับกับ MyPlan - Saving Plan ใน WealthMagik


ทีนี้ตัวอย่างที่จะทำให้ดู สมมติเป็นเด็กจบใหม่ ที่อยากมีเงิน 1,000,000 บาทก่อนอายุ 30 ปีนะครับ


ในส่วนที่ 1 เรื่องสถานภาพทั่วไปนะครับ
เด็กจบใหม่ อายุน่าจะประมาณ 23 ปี อาจจะมีเงินเก็บจากช่วงเรียนมาสัก 10,000 บาท 
และต้องการออมสัก 100,000 บาท ตีเฉลี่ยแล้ว น่าจะได้เก็บได้เดือนละ 8,000 บาท
หวังไว้ว่าเงินเดือนน่าจะขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี บวกกับโบนัสแล้ว น่าจะออมเพิ่มได้ปีละ 5% 
(กรอกข้อมูลเลยครับ)



ในส่วนที่ 2 ระบุเป้าหมายครับ
กำหนดจำนวนปี ถ้ากำหนดว่าต้องแตะเป้าหมายก่อน 30 ก็ตีไว้ที่ 30 ก่อนเลย ก็คืออีก 7 ปี และเป้าหมายก็คือ เงินล้าน ครับ


ในส่วนที่ 3 ข้อมูลที่คาดการณ์ ซึ่งในส่วนนี้เบื้องต้นอาจจะปล่อยให้เป็นค่า default ก่อนได้ครับ โดยมองว่าถ้าใช้ฝากประจำ และได้ดอกเบี้ยประมาณนี้ ซึ่งเราคิดเผื่อเรื่องเงินเฟ้อให้ด้วย (เงินเฟ้อ คือ สิ่งที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลงตามกาลเวลา) ซึ่งหมายถึงต้องมีเงินมากกว่า 1 ล้านบาท ถ้าต้องการให้เท่ากับมูลค่า 1 ล้านบาทในตอนนี้นะครับ แต่หากว่าเราสนเพียงให้ได้ครบ 1 ล้าน ก็กำหนดค่าดังกล่าวเป็น 0% ได้เลย

หรือว่า ถ้าค่าสินสอดเราตกลงกับพ่อตาแม่ยายได้ว่า จะไม่ขึ้นนะ .. ก็กำหนดเป็น 0% ได้ครับ อิอิ
จากนั้นก็กด คำนวณยอดเงินสุทธิ เลยครับ


และนี่คือผลลัพธ์ครับ โอ้ .. ยังขาดอีก เกือบ 300,000 บาท ..ทำอย่างไรดี มี 2 วิธีครับ
(*ถ้าตัวเลขออกมาเป็นสีเขียว คงต้องบอกว่า ยินดีด้วย แผนที่ทำอยู่โอเคอยู่แล้วนะครับ ^^)
1. ย้อนกลับไป ปรับวิธีการออมจากขั้นตอนแรก
2. กดสรุปผล ครับ ^_^



หลังจากเข้ามาหน้าสรุปผลแล้ว จะมีแผนทางเลือกให้นะครับ จากในรูปจะประกอบด้วย

1. ปรับเงินออมปัจจุบัน ขออธิบายว่า เงินออมที่เรากรอกในตอนแรก ไม่ใช่เงินออมทั้งหมดที่มี แต่เป็นเงินออมที่เราจะใช้เพื่อแผนนี้เท่านั้น ในกรณีนี้ ก็คือการเอาเงินออมส่วนอื่นมาปรับเพิ่มในแผนนี้ครับ

2. ปรับเงินออมต่อปี จากเดิมเก็บได้ 100,000 บาท ต้องปรับเพิ่ม ซึ่งก็ต้องลดรายจ่าย หรือ เพิ่มรายได้ครับ หรือลดเงินออมของแผนอื่นมาเพิ่มให้แผนนี้ครับ

3. เอาเงินออมตรงนี้มาทำกำไรให้ได้ 12.30% ต่อปีครับ ทางเลือกก็มีการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม หรือนำเงินไปทำธุรกิจครับ ถ้าถามว่าจะมีเหรอ ผมขอตอบในมุมของกองทุนรวมว่า มีครับ แต่ยิ่งในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น มีถมเถเลยครับ แต่ในช่วงที่เป็นขาลง อาจจะต้องทำการบ้านกันนิดนึงครับ

และถ้าใครได้ลองเข้าไปทำ จะเห็นส่วนที่เป็นกราฟ ซึ่งจริงๆ ผมอธิบายๆสั้นๆว่า ถ้าสองเส้นชนกัน แปลว่าสำเร็จครับ เพราะงั้นแผนที่แนะนำเพิ่มเติม คือทำให้กราฟชนกัน ..ส่วนแผนเดิม ถ้าไม่เวิค เส้นก็ไม่ชน ปิดท้ายด้วยตาราง ที่แสดงความเคลื่อนไหวของเงินตลอดทางการเก็บนะครับ

ถ้าอยากลองใช้กัน เอาลิงค์ไปอีกรอบแล้วกันนะครับ

สำหรับใครที่อยากประยุกต์แผนนี้กับเรื่องอื่นๆ สอบถามมาดูได้นะครับ
หรือถ้ามีไอเดียดีๆ ก็มาแชร์กันบ้าง

อย่าลืมไป like page : FB.com/MrRedHair กันนะครับ
ไปโพสต์ หรือคอมเม้นคุยกันก็ได้เลยครับ ^_^

ขอให้สำเร็จในทุกแผนที่คุณตั้งไว้ครับ
Mr.RedHair



หนึ่งในขั้นตอนการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ นั่นก็คือ การวางแผนการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่ง WealthMagik มีเครื่องมือในส่วนนี้ เพื่อให้นักลงทุนสามารถวางแผนได้ว่า แผนในปัจจุบันนั้นมีโอกาสสำเร็จมากน้อยเพียงใด และหากไม่สำเร็จจะทำอย่างไรให้สำเร็จได้

อ้างอิง : http://www.wealthmagik.com/FP/FPHome.aspx

6 แผนทางการเงิน เพื่อสร้างโอกาสให้สำเร็จให้มากยิ่งขึ้น

1. แผนการออมเงิน (Saving Plan)
แผนที่ประยุกต์ใช้ได้หลายกรณีมากที่สุด เนื่องจากเป็นภาพรวมของการเก็บออม โดยตั้งจุดประสงค์ขึ้นมาว่า เป้าหมายของเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ เช่น ออมเพื่อท่องเที่ยว ออมเพื่อซื้อของที่อยากได้ ฯลฯ

2. แผนเพื่อซื้อบ้าน (Housing Plan)
- สำหรับคนที่กำลังมองหาบ้านสักหลัง โดยที่ต้องวางแผนเก็บเงินเพื่อเงินดาวน์ และเพื่อประเมินวงเงินที่ต้องการกู้ รวมถึงเงินผ่อนต่อเดือน ดูกระแสเงินที่เกิดขึ้นจนกระทั่งผ่อนครบ

3. แผนเพื่อการศึกษาบุตร (Education Plan)
แผนสำหรับส่งลูกเข้าเรียน ใช้ประเมินตั้งแต่บุตรยังไม่เข้ารับการศึกษา จนกระทั่งจบการศึกษา โดยการวางแผนจะแบ่งเป็นสองช่วง คือช่วงเก็บเงินเตรียมตัว และช่วงการใช้เงินส่งลูกเรียน

4. แผนเพื่อการเกษียณ (Retirement Plan)
แผนเพื่อการเกษียณ 1 ในแผนชีวิตที่สำหรับผมคิดว่าสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นแผนระยะยาว ถึงยาวมาก เพราะวางแผนจนถึงวันที่เราลาโลกไปเลย และเป็นการวางแผนสำหรับ need เบื้องต้นของเรานั่นเอง มากกว่านี้ได้ ถือว่าเป็นผลพลอยได้

5. แผนเพื่อการวางแผนภาษี (Tax-Saving Plan)
สำหรับผู้มีเงินได้แล้ว ต่างก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้รัฐ แต่ก็มีเงื่อนไขที่ทำให้เราสามารถลดหย่อนภาษีได้ และยังสร้างประโยชน์ให้เราในระยะยาวอีกด้วย ทั้งส่วนของ LTF, RMF หรือประกัน

6. แผนเพื่อซื้อกรมธรรม์ (Insurance Plan)
เราไม่รู้ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา และยิ่งถ้าเราเป็นรายได้หลักของครอบครัว แล้ววันหนึ่งที่ครอบครัวสูญเสียรายได้ไป ปัญหาต่างๆก็คงเกิด การทำประกันก็เป็นส่วนหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องนี้ แผนตัวนี้จะบอกว่า ทุนประกันที่ต้องมีเพื่อครอบคลุมส่วนที่ต้องมี หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน คือเท่าไหร่ครับ

ทีนี้ก็รู้แผนการเงินไปแบบคร่าวๆทั้ง 6 แผนกับ WealthMagik แล้วนะครับ
แล้วผมจะมาลงวิธีการใช้ รวมถึงประโยชน์ และแนวคิดในแต่ละแผนกันเลยครับ

อย่าลืมติดตามกัน โดย like ที่ FB.com/MrRedHair นะครับ ^_^
โชคดี บรรลุเป้าทุกๆแผนการเงิน
Mr.RedHair


คำถาม ที่ทำให้รู้ว่า คนที่ถามน่าจะมีปัญหาในอนาคต เพราะความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง นั่นก็คือ

"ลงทุนในกองทุน AA แล้วมันให้ดอกเบี้ยเท่าไหร่"
"ปกติลงทุนในหุ้น ดอกเบี้ยปีละเท่าไหร่"

เห้ย!! ไม่ใช่แล้ว ดอกเบี้ยกับปันผล มันไม่เหมือนกันนะ!!


ก่อนอื่นเลย ผมขอคาดเดาก่อนว่า คำถามลักษณะนี้ เป็นเพราะคนที่ถามเองเนี่ย รู้จักคำว่าดอกเบี้ยจากการฝากเงิน หรือปล่อยกู้ และยังไม่รู้จักคำว่าลงทุนสักเท่าไหร่ เพราะสถานะของผู้ลงทุนจะไม่เหมือนกัน

หมายความว่า 2 อย่างนี้ต่างกันแบบมีนัยยะสำคัญ ที่ต้องเข้าใจมันก่อนเลยนะครับ

ดอกเบี้ย
ถ้าเราถามถึงสิ่งนี้ นั่นหมายถึง เราอยู่ในสถานะ เจ้าหนี้ ครับ มันคือการที่ เราเป็นผู้มีเงิน และมีผู้ต้องการใช้เงิน มาขอยืมเงินเรา แน่นอนว่า เงินก้อนที่เราให้ไป ในช่วงที่เค้ายืมอยู่ เราก็เอาเงินก้อนนั้นมาทำอะไรไม่ได้ นั่นก็แปลว่าเราจะเสียผลประโยชน์ในช่วงเวลานั้นไป แทนที่เราจะได้ใช้เงิน หรือนำเงินนี้ไปสร้างผลตอบแทน
ซึ่งการจ่ายดอกเบี้ย ก็คือการชดเชยในส่วนที่เราเสียไปนั่นเอง ทีนี้การจ่ายดอกเบี้ยก็ขึ้นอยู่กับตกลงกันว่า ทุกๆเดือน ทุกๆสัปดาห์ หรือทุกๆปี ซึ่งเมื่อครบสัญญาแล้ว เราก็จะได้เงินต้นคืน + ดอกเบี้ยที่เราได้มาตลอดทาง สมมตินะครับ
ถ้าเราให้ยืมไป 100 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี ยืมไปทั้งหมด 5 ปี เงินที่เราจะได้คืนก็จะเท่ากับ
100 + 5(10) = 150 ครับ

ปันผล 
ถ้าผลตอบแทนที่ได้รับคือเจ้าสิ่งนี้ แสดงว่าเราอยู่ในสถานะ เจ้าของ นั่นแปลว่าเงินที่เรานำเข้าไปลงทุน ก็คือเราร่วมหุ้น เพื่อทำกิจการนั้นๆ ซึงปันผล ก็คือเงินที่จ่ายออกมาให้ผู้ร่วมทุน หรือผู้ถือหุ้น ซึ่งนั่นแปลว่าผลลัพธ์ที่ได้มา จะต้องขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทด้วยนั่นเอง ทีนี้การจ่ายปันผลนั้น
ปกติแล้วจะจ่ายโดยดูจากส่วนกำไรที่กิจการนั้นๆทำได้ แบ่งออกมาให้กับผู้ถือหุ้น แปลว่า หากขาดทุน อาจจะไม่ทำการจ่ายปันผลก็ได้ และหากจ่ายปันผลออกมาในขณะที่ขาดทุน ก็แปลว่าแบ่งเงินจากส่วนที่เป็นทุนของเราออกมาจ่ายนั่นเองครับ ตัวอย่างนะครับ
เราเข้าซื้อหุ้น เป็นจำนวน 100 หุ้น มูลค่า 1,000 บาท คือได้ต้นทุนหุ้นละ 10 บาท
สมมติให้กิจการได้กำไรมา 20% ราคาหุ้นเติบโตเป็น 12 บาท ต่อหุ้น กิจการเลือกที่จะจ่ายปันผล ประมาณ 10% ของกำไร ส่วนที่เหลืออาจจะนำไปขยายกิจการเพิ่มเติม โดยปันผลออกมาหน่วยละ 1 บาท ณ วันที่จ่ายปันผลออกมา (โดยปกติคือวันประกาศจ่าย หรือวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD) จากราคาหุ้น 12 บาท ปันออกมา 1 บาท จะทำให้ราคาหุ้นเหลือ 11 บาท +/- กับปัจจัยอื่นๆ (ปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะตลาด)
และถ้ากิจการไม่ได้กำไร แต่เลือกที่จะปันผลด้วยเหตุผลใดๆ นั่นก็จะแปลว่า จากต้นทุนที่อาจจะไม่ได้โตขึ้น หรือน้อยลง ในวันที่จ่าย ก็จะลดส่วนที่ปันผลออกไปทันที +/- กับปัจจัยอื่นๆเช่นกัน

เพราะฉะนั้นแล้ว ดอกเบี้ย และปันผล ต่างกันนะครับ แต่ทั้งคู่ ก็มีข้อดีข้อเสียในตัวเองนะครับ


ดอกเบี้ย 

ข้อดี คือ สามารถกำหนด หรือรับรู้ได้ว่าจะได้ผลตอบแทนออกมาเท่าไหร่ และยังต้องได้ แม้ว่าผู้กู้จะขาดทุนจากเงินก้อนนั้นๆก็ตาม
ข้อเสีย คือ ถ้าคนที่กู้ยืมเงิน นำเงินไปลงทุนจนขยายไปได้ 100 เท่า 1,000 เท่าก็ตาม ผู้ให้กู้ก็ยังได้ดอกเบี้ยตามที่ตกลงเท่านั้น


ปันผล

ข้อดี คือ ถ้ากิจการนั้นขยายตัวได้ดี ปันผล และมูลค่าของหุ้นอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยไม่กำหนดเพดาน ในฐานะผู้ร่วมหุ้น ก็จะได้ผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเอง
ข้อเสีย คือ ถ้ากิจการไปได้ไม่สวย เราก็ต้องร่วมรับผิดชอบขาดทุนด้วยนั่นเองครับ


จะดอกเบี้ยก็ดี ปันผลก็ดี ขอให้คนที่ติดตาม Mr.RedHair ได้กันเยอะๆนะครับ ^^
ยังไงก็อย่าลืมเข้าไปกด like Page "MrRedHair" กันด้วยนะครับ

โชคดีในการลงทุนครับ
Mr.RedHair


ในช่วงที่สภาวะตลาดแบบนี้ที่ส่งผลให้ทั้งพอร์ตหุ้น หรือพอร์ตกองทุนที่ลงทุนในหุ้นก็ดี พบกับตัวเลขขาดทุนที่อาจจะทำให้หลายๆคนตกใจ และคำถามยอดฮิตที่พบประจำช่วงนี้ก็คือ

"ขายก่อนดีมั๊ย! แล้วค่อยเข้าใหม่"

"ทำยังไงดี ไม่ได้เปิดมานาน ขาดทุนไปเยอะเลย"

ซึ่งจริงๆแล้วก็มีกูรูหลายท่านที่ออกมา ชี้แนะแนวทางกัน แต่วันนี้ผมคิดว่า สุดท้ายแล้วการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุน ถ้าผมขอให้ย้อนกลับไปในวันที่ เราเข้ามาลงทุนในหุ้น หรือกองทุนหุ้น ก็ดี เราตั้งใจจะมาทำกำไรระยะสั้น เพื่อออม เพื่อปันผล หรือว่าด้วยจุดประสงค์ใด

หากเป็นการทำกำไรระยะสั้น ผมคิดว่านั่นก็อาจจะทำให้ต้อง cut-loss ยอมขาดทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างผลตอบแทนทางอื่น หรือต้องคอยดูสัญญาณอย่างจดจ่อ

แต่ถ้าเป็นระยะยาว หรือเพื่อออมเงินให้มากพอ จนปันผลออกมาพอใช้ ซึ่งการที่นำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง สิ่งที่นักลงทุนต้องรู้ก่อนเลย คือ ควรจะนำ "เงินเย็น" หรือเงินที่ไม่รีบร้อนหรือจำเป็นต้องใช้ปัจจุบันทันด่วนมาลงทุน ไม่ใช่ "เงินร้อน" นะครับ เพราะอาจจะเดือดร้อน 2 ต่อ ทั้งความเสี่ยงที่จะขาดทุน ประกอบกับจังหวะที่เราจำเป็นต้องใช้เงินแต่ไม่พอให้ใช้


ทีนี้สำหรับคำถามยอดฮิตในช่วงนี้ เพื่อให้เห็นทางเลือกอย่างชัดเจนนะครับ ผมจะจำแนกออกมาดังนี้

1. เงินเย็น และเชื่อว่ากองทุนนี้ยังดีได้ในอนาคต
    ปล่อยไว้ อาจจะซื้อเพิ่ม เพราะถือว่าต้นทุนต่ำลงมาแล้ว วันหนึ่งจะดีได้

2. เงินเย็น ก้ำกึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะดีหรือไม่ดี
    ปล่อยไว้ แต่เงินที่จะซื้อเพิ่มไปเพิ่มที่กองอื่น หรือสินทรัพย์ประเภทอื่น เพื่อลดความเสี่ยง หรือสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ใหม่

3. เงินร้อน เพราะจะนำเงินไปลงทุน หรือทำอย่างอื่นโดยด่วน และคิดว่าสร้างผลตอบแทนได้ดี
    ยอมขาดทุน และนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เชื่อมั่นกว่า
    (จะยอมขาดทั้งก้อน เจ็บแต่จบ หรือทยอยออกเพื่อดูทีท่า ขึ้นอยู่กับเราครับ)

4. เงินร้อน เพราะต้องใช้เงินด่วนจริงๆ
    คิดว่ารู้คำตอบกันอยู่แล้วนะครับ

สุดท้ายลองดูนะครับ ว่าเราตกสถานการณ์ไหน เห็นแบบนี้น่าจะทำให้ตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะมีทางเลือกอื่นที่คิดได้นะครับ ยังไงแล้วผมหวังว่า เพื่อนๆจะได้คำตอบที่ดีนะครับ

โชคดีในการลงทุน ให้ตลาดสวยงามไวๆครับ
Mr.RedHair