ผม "แดง" นะครับ อ้อ ใช่ครับ นั่นแหละที่มาของ Mr.RedHair นั่นเอง เรามาแชร์โลกการลงทุนให้มันเข้าใจได้ง่ายขึ้นกันนะครับ


ในช่วงที่สภาวะตลาดแบบนี้ที่ส่งผลให้ทั้งพอร์ตหุ้น หรือพอร์ตกองทุนที่ลงทุนในหุ้นก็ดี พบกับตัวเลขขาดทุนที่อาจจะทำให้หลายๆคนตกใจ และคำถามยอดฮิตที่พบประจำช่วงนี้ก็คือ

"ขายก่อนดีมั๊ย! แล้วค่อยเข้าใหม่"

"ทำยังไงดี ไม่ได้เปิดมานาน ขาดทุนไปเยอะเลย"

ซึ่งจริงๆแล้วก็มีกูรูหลายท่านที่ออกมา ชี้แนะแนวทางกัน แต่วันนี้ผมคิดว่า สุดท้ายแล้วการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุน ถ้าผมขอให้ย้อนกลับไปในวันที่ เราเข้ามาลงทุนในหุ้น หรือกองทุนหุ้น ก็ดี เราตั้งใจจะมาทำกำไรระยะสั้น เพื่อออม เพื่อปันผล หรือว่าด้วยจุดประสงค์ใด

หากเป็นการทำกำไรระยะสั้น ผมคิดว่านั่นก็อาจจะทำให้ต้อง cut-loss ยอมขาดทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างผลตอบแทนทางอื่น หรือต้องคอยดูสัญญาณอย่างจดจ่อ

แต่ถ้าเป็นระยะยาว หรือเพื่อออมเงินให้มากพอ จนปันผลออกมาพอใช้ ซึ่งการที่นำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง สิ่งที่นักลงทุนต้องรู้ก่อนเลย คือ ควรจะนำ "เงินเย็น" หรือเงินที่ไม่รีบร้อนหรือจำเป็นต้องใช้ปัจจุบันทันด่วนมาลงทุน ไม่ใช่ "เงินร้อน" นะครับ เพราะอาจจะเดือดร้อน 2 ต่อ ทั้งความเสี่ยงที่จะขาดทุน ประกอบกับจังหวะที่เราจำเป็นต้องใช้เงินแต่ไม่พอให้ใช้


ทีนี้สำหรับคำถามยอดฮิตในช่วงนี้ เพื่อให้เห็นทางเลือกอย่างชัดเจนนะครับ ผมจะจำแนกออกมาดังนี้

1. เงินเย็น และเชื่อว่ากองทุนนี้ยังดีได้ในอนาคต
    ปล่อยไว้ อาจจะซื้อเพิ่ม เพราะถือว่าต้นทุนต่ำลงมาแล้ว วันหนึ่งจะดีได้

2. เงินเย็น ก้ำกึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะดีหรือไม่ดี
    ปล่อยไว้ แต่เงินที่จะซื้อเพิ่มไปเพิ่มที่กองอื่น หรือสินทรัพย์ประเภทอื่น เพื่อลดความเสี่ยง หรือสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ใหม่

3. เงินร้อน เพราะจะนำเงินไปลงทุน หรือทำอย่างอื่นโดยด่วน และคิดว่าสร้างผลตอบแทนได้ดี
    ยอมขาดทุน และนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เชื่อมั่นกว่า
    (จะยอมขาดทั้งก้อน เจ็บแต่จบ หรือทยอยออกเพื่อดูทีท่า ขึ้นอยู่กับเราครับ)

4. เงินร้อน เพราะต้องใช้เงินด่วนจริงๆ
    คิดว่ารู้คำตอบกันอยู่แล้วนะครับ

สุดท้ายลองดูนะครับ ว่าเราตกสถานการณ์ไหน เห็นแบบนี้น่าจะทำให้ตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะมีทางเลือกอื่นที่คิดได้นะครับ ยังไงแล้วผมหวังว่า เพื่อนๆจะได้คำตอบที่ดีนะครับ

โชคดีในการลงทุน ให้ตลาดสวยงามไวๆครับ
Mr.RedHair




เงิน 4 ชีวิต  อีกมุมมองที่ว่า เงินนั้นมีชีวิตจิตใจ มีนิสัย มันเคลื่อนที่ได้ โดยแต่ละตัวจะมีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะดี ถ้าเรารู้จักมันดีพอ เราจะได้จัดการได้ถูกต้อง แบ่งได้ตามนี้ครับ

B - Boss เงินเจ้านาย ซึ่งวิธีการดูก็คือ เป็นเงินที่เรายังต้องหา เพื่อให้ยังคงดำรงชีพอยู่ได้ ถ้าเราหยุดทำงาน เราก็จะมีปัญหาในชีวิตในแต่ละด้าน เราจึงต้องทำงานรับใช้มัน เลยเรียกมันว่า "เงินเจ้านาย"

E  - Executioner เงินเพชรฆาต ให้เดาเล่นๆกันน่าจะเดาออกครับ ว่าหมายถึงเงินประเภทไหน และทุกวันวิธีการใช้จ่ายของคนทั่วไปในไทย ก็สร้างเจ้าเงินประเภทนี้กันมาก มันก็คือเงินล่วงหน้าที่เราเอามาใช้ ถ้าเราไม่รับใช้มัน มันก็จะทำร้ายเรา จริงๆอาจจะเริ่มทำร้ายจิตใจ ตั้งแต่เริ่มมีเลยก็ว่าได้ครับ เช่น การกู้ยืม ซึ่งประเภทนี้ เรียกว่าเป็นลูกน้องที่น่ากลัวของเงินเจ้านายเลยก็ว่าได้ 

F - Friend เงินเพื่อนแท้ ด้วยลักษณะนิสัยที่คอยช่วยเหลือเราเมื่อจำเป็น เช่น ยามเราเจ็บป่วย ยามเราต้องการรางวัลชีวิต เงินเพื่อนแท้ก็จะหยิบยื่นมือมาช่วยเรา โดยไม่ทำร้ายเรา นั่นก็หมายถึงเงินออมทั้งหลาย ที่เราสามารถมาใช้ได้เมื่อจำเป็นครับ ซึ่งจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อ รายรับ มากกว่า รายจ่าย

S - Slave เงินทาสผู้รับใช้ ตามชื่อครับ เป็นเงินทาสที่พักดีต่อเรา เป็นเงินที่คอยทำงานให้เรา และคอยเรียกพรรคพวกเงินทาสมาให้ นั่นก็คือการที่เรารู้จักนำเงินไปลงทุน แม้ว่าเราจะหยุดทำงานแล้ว เงินพวกนี้ก็ยังต้องทำงาน โดยบ่นกับเราไม่ได้เลย ดีใช่มั้ยละครับ สำหรับกลุ่มสุดท้าย (แต่บางคนอาจจะโต้กลับว่า เงินที่ไปลงทุนช่วงนี้ไม่ค่อยจะภักดีเลยแหะ 55+ แม้จะเป็นเงินทาส แต่เราในฐานะเจ้านาย เราก็ควรใส่ใจ หรือวางแผนให้ดีด้วยนะครับ)

จะสังเกตเห็นว่า ก็ยังแบ่งเงินเป็น 2 ฝั่ง คือ B, E  และ F, S ซึ่งในมุมนี้ ผมมองว่าทุกคน ย้ำว่าทุกคนที่ต้องการเงินฝั่งขวานะครับ เพราะนั่นแปลว่าเราจัดการการเงิน และชีวิตเราได้ดีแล้ว ซึ่งก็คล้ายกับเงิน 4 ด้านครับ ที่ไม่จำเป็นที่เราต้องหลุดจากเงินเจ้านายก่อน ถึงจะมีเงินในด้านขวา เรายังสามารถค่อยๆสร้างทั้งหมดได้ครับ ในวันที่เรามีเงินเพื่อนแท้ และเงินทาสผู้รับใช้มากพอ เราก็จะไม่ต้องเพิ่งพิงเงินเจ้านาย และไม่ต้องโดนทำร้ายจากเงินเพชรฆาตด้วย





ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง จากหนังสือเล่มนี้ครับ "เงิน 4 ชีวิต" ซึ่งจริงๆแล้วในตัวเล่มยังมีเนื้อหา และความละเอียดอีกมากครับ เช่น กฎ 9/1 หรือ 3/1 ซึ่งขออนุญาตไม่เอามาสปอยนะครับ 55+ หากสนใจก็ลองหาซื้อมาอ่านได้ครับ







ขอให้มีเพื่อนแท้และเงินทาสเยอะๆกันนะครับ
Mr. RedHair


เงิน 4 ด้าน หนังสือเล่มแรกๆแนวๆนี้ที่อ่าน ซึ่งอ่านเมื่อนานมาแล้วนะครับ แต่ก็มีมุมหนึ่งที่ทำให้รู้จักมุมมองของการหาเงินมากขึ้น ซึ่งเนื้อหาหลักๆที่ได้มากล่าวถึงวิธีการที่จะได้เงินมา แบ่งได้ 4 ด้าน

E - Employee ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ยังเป็นตัวนี้นะครับ เรียกง่ายๆก็พนักงานกินเงินเดือนทั่วไป ยังต้องอาศัยการว่าจ้าง และรับเงิน เพื่อใช้ยังชีพ

S  - Self Employ ในจุดนี้หลายๆคนน่าจะเคยเป็นหรือเป็นอยู่ เช่นการเปิดร้านขายของ เปิดเพจขายของ ก็คือมีร้านเป็นของตัวเอง จัดการตัวเอง 

B - Business Owner คือเจ้าของธุรกิจ เริ่มเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่แค่เราสั่งการแล้ว แต่อาจจะมีกรรมการ หรือตำแหน่งอีกหลายตำแหน่ง ที่มีอำนาจสั่งการมากยิ่งขึ้น

I - Investor นักลงทุน มองง่ายๆครับ ก็คือการที่เราร่วมหุ้นด้วยเงิน เพื่อให้เค้าเอาเงินไปสร้างเป็นธุรกิจ หรือบริหารต่อ หรือการซื้อหุ้น ซื้อกองทุน พันธบัตรต่างๆ

จะสังเกตว่า แบ่งเงินเป็น 2 ฝั่ง คือ E, S และ B, I ซึ่งนัยยะของการแบ่งข้างกล่าวไว้ว่า ข้างซ้ายยังคงต้องลงมือใช้แรงหาเงิน คือ ต้องเหนื่อยถึงได้เงินมา แต่ฝั่งขวา จะเป็นการใช้เงินในการทำงานมากกว่า อาจจะมีคำถามว่า แล้ว B ไม่ต้องหรือ นิยามจริงๆคือ เจ้าของต่อให้ไปเที่ยวนานๆ บริษัทก็ยังต้องอยู่ได้ ก็จะมีเหล่า E นี่แหละที่ทำงานให้ ซึ่งในมุมมองของผม จริงๆต่อให้ฝั่งขวาเอง เราก็ควรต้องลงมือ หรือหมั่นทบทวนบ้างนะครับ




อีกเรื่องคือ ไม่ว่าตอนนี้ส่วนใหญ่ของตัวเราจะอยู่ในด้านไหน แต่อย่าจำกัดตัวเองไว้นะครับ เพราะเราสามารถเป็นหลายๆด้านพร้อมๆกัน ส่วนใหญ่จะผลักดันให้ไปอยู่ฝั่งขวา เพราะหวังว่าจะสบาย ซึ่งก็อาจจะจริงครับ แต่หากเรามีงานที่รักและอยากจะทำ เราก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งงานนั้นๆนะครับ สังคมจะอยู่ได้ ก็ยังต้องอาศัพองค์ประกอบหลายด้านครับ (สนใจก็สามารถสั่งซื้อหนังสือกับผมได้นะครับ เอ้ยย!! พูดเล่น สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป แต่เล่มนี้ก็นานแล้วครับ ^^)



โชคดีวันนี้มีเงินหลายด้านนะครับ
Mr.RedHair